วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

ทักษะการตั้งคำถาม



นางสาวขวัญชนก  เปรมอยู่  51125260240
คอมพิวเตอร์ศึกษา

 นายปิยะณัฐ  วิพันธุ์เงิน  51125260144
คอมพิวเตอร์ศึกษา

นายพงศ์ธร  ศรีวัฒนุพันธูุ์ 51125260208
คอมพิวเตอร์ศึกษา
  
นายปฐมพงษ์  นาคะ
51125260242
คอมพิวเตอร์ศึกษา


นายวรศักดิ์  เยาว์ทุม
51125260128
คอมพิวเตอร์ศึกษา

ทักษะการตั้งคำถาม
อาจกล่าวได้ว่า "คำถามที่ดี" เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของครูในการจัดการเรียนการสอน การตั้งคำถามจะช่วยดึงเด็กให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียน และช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนไปมากน้อยเพียงใด และในระหว่างที่เด็กคิดหาคำตอบ (และฝึกตั้งคำถามไปพร้อมกับครูนั้น) เด็กจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และการดำเนินชีวิตของเขาในภายภาคหน้า มาดูกันว่า คำถามมีกี่ประเภท ครูควรนำไปใช้ในสถานการณ์ใดได้บ้าง และมีข้อห้ามเกี่ยวกับการตั้งคำถามอย่างไร 
ประเภทของคำถาม
คำถามที่นิยมใช้กันแยกออกได้เป็น  12  ประเภท ดังนี้
1.       คำถามความรู้ ความจำ เป็นคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว และสามารถระลึกได้ เช่น ศัพท์ นิยาม กฎ เป็นต้น
2.       คำถามที่นำไปสู่การสังเกต เป็นคำถามที่ครูต้องการให้นักเรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อรับรู้และตอบปัญหา หรือนำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วยในการตอบปัญหา
3.       คำถามที่นำไปสู่การอภิปราย หรือถามความเข้าใจ เป็นคำถามที่ครูต้องการให้นักเรียนใช้เหตุผลมาประกอบกับข้อมูลจากประสบการณ์มาช่วยในการตอบปัญหา ลักษณะเป็นการตีความ แปลความ และขยายความ
4.       คำถามเพื่อให้นักเรียนเปรียบเทียบ เป็นการถามเพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์เรื่องราว และพิจารณาว่าสิ่งใดสำคัญ ไม่สำคัญ มีสาเหตุ มีจุดมุ่งหมาย หลักการอย่างไร เพื่อนำสิ่งต่าง ๆเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกัน
5.       คำถามเกี่ยวกับเหตุผล เป็นคำถามที่ต้องการให้นักเรียนวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์หรือเรื่องราวว่ามีสาเหตุจากสิ่งใด ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
6.       คำถามเกี่ยวกับการสรุปหลักการ เป็นคำถามเพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์มูลเหตุความสำคัญ และสามารถสรุปเป็นหลักการหรือแนวปฏิบัติได้
7.       ถามที่นำไปสู่การสร้างสมมติฐาน หรือขั้นทำนาย เป็นคำถามที่ครูต้องการคาดการณ์อย่างมีเหตุผลว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างหรือคาดการณ์ในการที่จะขยายข้อสรุปในขั้นของการอธิบายให้กว้างขวางออกไป
8.       คำถามที่นำไปใช้หรือคิดสร้างสรรค์ เป็นคำถามที่ครูต้องการให้นักเรียนนำกฏเกณฑ์และความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ไปประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใหม่ เป็นการคิดที่แปลกแตกต่างจากสถานการณ์เดิม
9.       คำถามที่เกี่ยวกับการวางแผน เป็นคำถามเพื่อให้นักเรียนเสนอแนวความคิดวางโครงการหรือเสนอผลงานโดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้เรียนมาผนวกกับแนวความคิดของตนเอง
10.    คำถามเพื่อการวิเคราะห์ หรือจำแนก เป็นคำถามเพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบของเหตุการณ์หรือเรื่องราวเพื่อให้มองเห็นสาระสำคัญขององค์ประกอบนั้น ๆ
11.    คำถามเพื่อการสังเคราะห์ เป็นการถามเพื่อให้นักเรียนรวบรวม ผสมผสานส่วนประกอบย่อย ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีความแตกต่างไปจากของเดิม
12.    คำถามเพื่อการประเมินค่า เป็นการถามเพื่อให้นักเรียนพิจารณาตัดสิน วินิจฉัย วิจารณ์ เหตุการณ์หรือเรื่องราวอย่างมีหลักเกณฑ์ ถูกต้องตามเหตุและผล


เทคนิคการตั้งคำถาม
1.       ตั้งคำถามสำหรับนักเรียนทั้งชั้น ไม่ควรถามเฉพาะเจาะจง หรือระบุตัวผู้ตอบคนใดคนหนึ่ง
2.       เว้นระยะให้คิดก่อนที่จะเรียกให้นักเรียนตอบ
3.       คำถามหนึ่งควรจะให้ตอบหลาย ๆ คนไม่ควรถามเพียงคนเดียว และพยายามฝึกให้นักเรียนตอบหลาย ๆ ทาง
4.       หลีกเลี่ยงคำถามที่ใช้คำตอบเพียงใช่ หรือ ไม่ใช่
5.       ครูควรเตรียมคำถามมาล่วงหน้าจะช่วยให้ครูถามอย่างมั่นใจ และไม่วกวน
6.       คำถามควรเป็นภาษาง่าย ๆ กะทัดรัด ไม่วกวน หรือคำถามยาวจนนักเรียนไม่เข้าใจคำถาม
7.       การถามอาจไม่ใช่ครูถามเพียงคนเดียว อาจให้นักเรียนผลัดกันถามบ้าง
8.       ใช้เทคนิคการเสริมกำลังใจ เมื่อนักเรียนตอบ ควรมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น ยิ้ม พยักหน้า ยังไม่ถูก ลองคิดดูใหม่ซิ
9.       ถามนักเรียนที่จะสมัครใจจะตอบพอ ๆ กับนักเรียนที่ไม่อยากตอบ
10.    ไม่ควรเรียกนักเรียนที่ขาดเรียน มีข้อบกพร่องส่วนตัว เช่น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัดเป็นผู้ตอบ
11.    ใช้ท่าทาง น้ำเสียงในการถามอย่างเหมาะสม
12.    ถามคำถามหลายประเภท ไม่ควรถามเฉพาะความจำ
13.    ใช้คำถามรุกเมื่อนักเรียนตอบไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง เช่น เธอแน่ใจหรือ ลองตอบใหม่ซิ
14.    ฝึกให้นักเรียนรู้จักวิธีตอบคำถามที่ดี ไม่แย่งกันตอบ และกล้าแสดงความคิดเห็น ไม่อายหรือกลัวผิด

              โดยหลักๆ คำถามมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ คำถามที่ตอบตามข้อเท็จจริง (factual question) คำถามที่ตอบแบบตีความ (interpretive question) และคำถามที่ตอบแบบประเมินคุณค่า (evaluative question) คำถามที่ตอบตามข้อเท็จจริง คำถามประเภทนี้จะมีคำตอบที่ถูกต้องอย่างเดียว เช่น "เมื่อเช้านี้นักเรียนรับประทานอะไรมา ?" อย่างไรก็ดี คำตอบของคำถามประเภทนี้อาจจะไม่ง่ายเสมอไป ขึ้นอยู่กับคำถามที่ถาม เช่น "เหตุใดเส้นรอบวงของลูกบอลจึงเป็นเส้นโค้ง ?" คำถามเช่นนี้แม้จะเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตามข้อเท็จจริง แต่ก็เป็นคำตอบที่ซับซ้อนกว่าตัวอย่างคำถามแรก การตั้งคำถามในรูปแบบนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเรียนที่ใช้การสืบค้นความรู้เป็นฐาน (inquiry - based projects) ตราบเท่าที่คำถามเหล่านี้มีคำตอบและมีความเป็นไปได้ที่จะค้นคว้าหาคำตอบ คำถามที่ตอบแบบตีความ คำถามประเภทนี้จะมีคำตอบมากกว่าหนึ่ง แต่ยังคงต้องมีหลักฐานสนับสนุนคำตอบนั้น ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ตอบ ตัวอย่าง เช่น "ทำไมเยอรมนีจึงพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ?" หรือ "ทำไมกระต่ายจึงวิ่งแข่งขันแพ้เต่า?" พึงสังเกตว่าคำถามประเภทนี้มักขึ้นต้นคำถามด้วย "ทำไม" คำตอบอาจมีมากกว่าหนึ่ง และจะถูกต้องตราบเท่าที่คำตอบนั้นอิงอยู่กับบริบทของเรื่องหรือเหตุการณ์ ในการศึกษาข้อความในรูปแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เรื่องแต่ง เรื่องจริง ภาพเขียน บทกวี ฯลฯ ครูควรใช้คำถามประเภทต้องการคำตอบแบบตีความหลายๆ คำถามที่ต่อเนื่องเกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่อง เพราะคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เด็กต้องกลับไปทบทวนเนื้อเรื่องทั้งหมด คำถามที่ต้องการคำตอบแบบตีนี้ความจะมีประสิทธิภาพยิ่งสำหรับการเริ่มต้นอภิปรายในชั้นเรียน เพื่อกระตุ้นผู้เรียนในการใช้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน และบางครั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนที่ใช้การสืบค้นความรู้เป็นฐานอีกด้วย
                คำถามที่ตอบแบบประเมินคุณค่า เป็นคำถามที่ใช้ถามความเห็น ความเชื่อ หรือความคิด ดังนั้นจึงไม่มีคำตอบใดที่ผิด อย่างไรก็ดี คำตอบจะขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้ตอบ ดังนั้น คำถามประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับการนำอภิปราย (ตัวอย่าง เช่น "สถานที่ดีๆ แห่งไหนบ้างที่เหมาะจะพาเด็กนักเรียนออกไปทัศนศึกษา ?") นอกจากนี้ยังใช้ในการศึกษางานวรรณกรรมหรืองานศิลปะต่างๆ (ตัวอย่างเช่น นักเรียนเห็นด้วยหรือไม่กับทัศนะของผู้เขียนที่มีต่อผู้หญิง ?) คำถามที่ประเมินคุณค่าจะไม่เหมาะสำหรับการเรียนที่ใช้การสืบค้นความรู้เป็นฐาน เนื่องจากเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตามความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคล แต่กระนั้นคำถามประเภทนี้จะช่วยให้ครูสามารถดึงเด็กเล็กหรือเด็กขี้อายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนได้ (ตัวอย่างเช่น หนูชอบตัวละครไหนมากที่สุดในเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ ?)

     
                โดยทั่วไป ครูควรเริ่มต้นคำถามด้วยคำว่า ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ทำไม ไม่ควรเริ่มต้นกับเด็กด้วยคำพูดทำนองนี้ "บอกครูซิว่า....?" หรือ "จงอธิบายว่า...?" ถ้าคำถามของครูเริ่มต้นด้วยกรอบเช่นนี้ เท่ากับครูกำลังควบคุมกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากครูกำลังใช้คำสั่งพร้อมๆ ไปกับขอให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียน เวลาที่ครูตั้งคำถาม ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการสนใจใคร่รู้คำตอบจากเด็กอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้คำถามแบบปลายเปิดจึงดีที่สุดสำหรับทุกสถานการณ์การเรียนรู้ เว้นแต่ว่าครูมีเหตุผลบางอย่างที่ต้องการชี้นำเด็กบางคนไปสู่ข้อสรุปที่เฉพาะเจาะจงบางเรื่อง หรือครูต้องการข้อเท็จจริงอะไรบางอย่างจากเด็ก






พยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ต้องการคำตอบเพียงแค่ "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" คำถามแบบนี้เรียกว่าคำถาม      ปิดตาย (dead end) หลักการของคำถามปลายเปิดมีดังนี้คือ
  • เชิญชวนให้ผู้ตอบแสดงความเห็น ความคิด และความรู้สึก
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วม
  • สร้างสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและผู้เรียน
  • กระตุ้นให้เกิดการอภิปราย และ
  • รักษาสมดุลระหว่างครูและผู้เรียน

            ลองเล่นเกมคำถามกับเด็ก ในการเริ่มต้นให้เด็ก 2 คนเลือกหัวข้อที่จะถาม คนแรกเริ่มต้นด้วยคำถามปลายเปิด จากนั้นให้อีกคนตอบด้วยคำถามปลายเปิดที่เชื่อมโยงกัน ให้ถามไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ซ้ำกับคำถามก่อนหน้า ตัวอย่างของหัวข้อในการตั้งคำถามอาจมาจากสิ่งของในห้องเรียนก็ได้ เช่น หลอดไฟฟ้า


ก : ทำไมแสงสว่างจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์?ข : แสงสว่างมาจากไหน?ก : แสงสว่างช่วยคนเราอย่างไร?ข : แสงสว่างใช้ที่ไหนได้บ้าง?ก : อะไรจะเกิดขึ้นหากไม่มีแสงสว่าง?
ลองตั้งคำถามทำนองนี้ไปเรื่อยๆ โดยให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วม แต่ละคนตั้งคำถามโดยใช้คำถามก่อนหน้าเป็นฐาน

                โปรแกรมการจัดการเรียนรู้ที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนในชั้นเรียนเข้ามาอยู่ในแผนการเรียนและในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับเป้าหมายของการเรียนการสอนระหว่างทีมงานที่เป็นเพื่อนครูด้วยกัน หรือการระดมสมองกับเด็กๆ คำแนะนำพื้นฐานต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งในการนำเข้าสู่การอภิปราย
  • แน่ใจว่าทุกคนมีความพร้อม นั่นหมายถึงทุกคนได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องมาก่อนหน้า หรือครูอ่านเรื่องที่จะอภิปรายให้ทุกคนได้ฟัง
  • รู้จุดมุ่งหมายแน่ชัด เป้าหมายของการอภิปรายนี้ต้องการให้ถึงขั้นการตัดสินใจ หรือแค่ระดมความคิดเบื้องต้น
  • ความเห็นต่างๆ ต้องมีหลักฐานสนับสนุน ยกตัวอย่างในการอภิปรายเกี่ยวกับหนังสือ ให้ครูตั้งคำถามว่าทำไมนักเรียนจึงเชื่อเช่นนั้น
  • ผู้นำอภิปรายมีหน้าที่ตั้งคำถามอย่างเดียว ไม่ควรตอบคำถามเอง
  • ให้ความสำคัญกับแต่ละคำถาม พยายามหลีกเลี่ยงคำถามทั่วๆ ไป หรือคำถามที่ไม่เฉพาะเจาะจง และหมั่นเตรียมคำถามที่ดีไว้ล่วงหน้า
  • ผู้นำอภิปรายต้องแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและมีพลังอยู่เสมอ
  • คำถามแบบตีความที่เป็นไปโดยธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญยิ่งสำหรับการอภิปราย ทั้งนี้ การเตรียมคำถามไว้ล่วงหน้าจะช่วยนำไปสู่การตั้งคำถามแบบตีความที่เป็นธรรมชาติได้ดีกว่า
  • คำถามที่ดีมักจะนำไปสู่คำถามต่างๆ ที่ตามมามากขึ้น ดังนั้นคจึงรูควรควบคุมประเด็นต่างๆ ให้ดี เช่น การจำกัดเวลาให้พอเหมาะ อย่างไรก็ตาม ครูไม่ควรทำลายความกระตือรือร้นของเด็กในขณะที่เด็กอยู่ในขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ของเขา
  • เมื่อไรก็ตามที่เป็นไปได้หรือเหมาะสม ให้ใช้เทคนิคจัดผังความคิด (mapping) ในการจัดโครงสร้างของแนวคิดจากความคิดต่างๆ ที่มีผู้เสนอ ให้ผู้ร่วมอภิปรายเห็นว่าความคิดของพวกเขาถูกนำมาเขียนไว้ในแผนผังดังกล่าว
                การตั้งคำถามที่ดีเป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะพอสมควร หวังว่าเทคนิคและข้อแนะนำต่างๆ ข้างต้นจะช่วยให้ครูสามารถใช้คำถามเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ทั้งกับตัวของครูเองและเด็กได้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย เวลาที่ตั้งคำถามเด็ก ให้แน่ใจว่าครูได้บรรลุจุดประสงค์ในการถาม มีเหตุผลที่ดีเลิศหลายข้อในการใช้คำถามกับเด็ก คำถามเหล่านี้จะเข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่เรียนหรือไม่ นอกจากนี้ยังช่วยครูแก้ปัญหาในส่วนที่เด็กยังสับสน และช่วยให้เด็กสามารถบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ พึงระลึกว่า เทคนิคการตั้งคำถามหากใช้อย่างเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับครูในการเรียนการสอน







http://www.newschool.in.th